วันเสาร์, เมษายน 27, 2024
Special Reportข่าว

“รถยนต์” วายร้ายตัวจริง หรือ จำเลยสังคม ในวิกฤต PM2.5 รถยนต์ไฟฟ้า และ EURO 5 ใช่ทางออกจริงหรือไม่?!

ในวิกฤตฝุ่น PM2.5 ปกคลุมประเทศไทย และกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินกว่ารัฐบาลจะแก้ไขได้ในเวลาอันสั้น ทำให้สังคมมีความโกรธแค้นอย่างหนัก และถามหาความรับผิดชอบจากตัวการ และ “รถยนต์” ก็เป็นผู้ต้องหาเดียวที่สังคมจับต้องได้ และรุมประณามได้อย่างสนิทใจ ต่างจากผู้ก่อการอื่นที่คนพูดถึงน้อย อาทิ เผาในที่โล่งแจ้งของภาคการเกษตร ประกอบอาหารปิ้งย่างตามวิถีชีวิตไทย โรงงานขนาดเล็กธุรกิจครัวเรือน ฯลฯ เพื่อเลี่ยงข้อหารังแกคนจน

ฝุ่น PM2.5 หรือ Particulate Matter 2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือมีขนาดเล็กจิ๋วเพียง ประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ เล็กมากจนสามารถเล็ดลอดเข้าสู่ร่างกายลงไปถึงระบบหายใจส่วนล่าง เช่น ปอด ถุงลม หรือเส้นเลือดฝอย ก่อปัญหาในระบบทางเดินหายใจ หรืออาจนำไปสู่โรคมะเร็ง และถ้าเป็น PM2.5 ที่มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีสามารถซึมผ่านเข้าทางผิวหนังได้อีกด้วย

ประเทศไทยกับฝุ่น PM2.5

ถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีผลวิเคราะห์จากห้องทดลองที่น่าเชื่อถือเพื่อจำแนกที่มาของอนุภาคฝุ่นในอากาศของประเทศไทย เพราะรายงานสรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ประจำปี 2562 ที่จัดทำโดยกรมควบคุมมลพิษ ก็ให้ข้อมูลแต่เพียงประเภทของมลพิษที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติใน 34 จังหวัดสามารถจับได้ ได้แก่ ฝุ่นละออง PM2.5 , ฝุ่นละออง PM10 และ ก๊าซโอโซน ซึ่งมีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐานมากกว่าปีก่อนหน้า ที่ผ่านมา

แม้จะยังไม่มีการชี้ชัดว่า PM2.5 มาจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนในเครื่องยนต์ดีเซล หรือการเผาไหม้ชีวมวลที่อุณหภูมิต่ำ (การเผาไร่ และประกอบอาหาร) แต่ “รถยนต์” รับผิดไปเต็ม ๆ ก่อน ในส่วนการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ของรัฐทั่วประเทศที่เป็นไปตามนโยบายการพัฒนาความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ก็ถูกให้เป็นตัวการของ PM10 ไป ซึ่งทั้งหมดสร้างปัญหามลพิษทางอากาศทั้งสิ้น เพียงแต่ PM2.5 ร้ายกว่า เพราะกลไกป้องกันตนเองอย่างขนจมูกหรือไรขนในระบบทางเดินหายใจจับไม่อยู่

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน ทิศทางกระแสลมตามธรรมชาติเปลี่ยน คือ เมื่อหมดฤดูหนาว เปลี่ยนเป็นฤดูร้อนต่อด้วยฤดูฝนที่เกิดจากอิทธิพลของกระแสลมจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ ฝุ่นในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงก็มักจะหายไป เป็นแบบนี้ซ้ำกันมาหลายปี แต่ค่าฝุ่นจะสูงในภาคกลางและภาคเหนือที่มีการเผาตอซังข้าวและเตรียมพื้นที่เพาะปลูกไร่

ทำอย่างไรกับรถยนต์ดีเซลเก่า?

ก็ต้องยอมรับว่ารถยนต์มีส่วนในการสร้างฝุ่น PM2.5 เพราะบนท้องถนนมีรถยนต์เก่า ที่ผลิตและจำหน่ายตามมาตรฐานไอเสียที่ล้าสมัยอยู่มาก โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล ประเมินกันว่ามีรถยนต์ดีเซล 11 ล้านคันทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็นรถยนต์เก่า มาตรฐานไอเสียระดับยูโร 1 และ 2 มากถึง 4 ล้านคัน และอีก 7 ล้านคัน เป็นรถยนต์มาตรฐานยูโร 3 ที่ประกาศใช้ในปี 2548 และมาตรฐานยูโร 4 ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน

ถ้ามองว่ารถเก่าคือยูโร2 ลงไป ซึ่งเริ่มประกาศใช้ในรถยนต์ขนาดเล็กเมื่อปี 2542 ก็คือรถอายุมากกว่า 20 ปีต้องปลดระวางก่อน จะสั่งให้หยุดวิ่งก็คงไม่ได้ แต่สามารถทำได้ด้วยการส่งเสริมให้นำรถเก่ามาแลกรถใหม่ ด้วยการลดหรือคืนภาษีสรรพสามิตรถยนต์คันใหม่ หรือให้เงินสนับสนุนโดยตรง ซึ่งในหลาย ๆ ประเทศก็ใช้มาตรการนี้ นอกจากลดมลพิษได้ด้วยตรงแล้ว เพราะรถเก่า 1 คันปล่อยไอเสียมากกว่ารถใหม่ถึง 7-8 คัน ทั้งยังยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานอีกด้วย และกลุ่มที่ไม่ยอมเปลี่ยนเพราะความผูกพันทางใจ หรือกลุ่มคนสะสมรถคลาสสิค ก็สามารถใช้มาตรการตรวจสภาพรถที่เข้มงวดและจัดเก็บภาษีค่าธรรมเนียมการใช้รถยนต์รายปีหรือภาษีป้ายขนส่งที่สูงได้อีกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ก่อนที่รัฐบาลจะออกนโยบายก็ควรเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้เชี่ยวชาญอย่างรอบด้านเสียก่อน

เจ้าของรถยนต์ทุกคนต้องมีส่วนร่วม

รถยนต์ ในยุคปัจจุบันปล่อยมลพิษจำพวกฝุ่นจิ๋วน้อยมาก จากมาตรฐานไอเสียของประเทศที่สูงเทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้ว มีการติดตั้งระบบจำกัดไอเสียที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ ทั้งระบบ ระบบนำไอเสียบางส่วนหมุนเวียนกลับมาเผาซ้ำร่วมกับอากาศดี หรือ EGR (Exhaust Gas Recirculation) และยังมีระบบกรองไอเสีย หรือ Catalytic Converter และ ในรถมาตรฐานยูโร 5 และ 6 ก็ยังมีระบบ Diesel Particulate Filter หรือ DPF คือ อุปกรณ์กรองเขม่าไอเสียในเครื่องยนต์ดีเซล ดักจับผงเขม่าและสร้างอุณหภูมิให้สูงระดับ 600 องศาเซลเซียส เพื่อทำการเผาไหม้ตัวเขม่าอีกครั้ง จนกลายเป็นก๊าซที่อนุภาคเล็กและไหลผ่านตัวแปรสภาพไอเสียในระบบ Catalytic Converter เพื่อลดสารพิษอีกขั้นตอนหนึ่ง ก่อนปล่อยออกไปสู่สิ่งแวดล้อม

แต่ในคลับผู้ใช้รถยนต์รุ่นต่าง ๆ มักจะมีคำถามหรือมีผู้มาแนะนำการตัดระบบ หรือ อุด/ปิดการทำงานของระบบจัดการไอเสียและเขม่า ด้วยเหตุผลว่าต้องการให้เครื่องยนต์ของรถตนเองสะอาด หรือหวังผลให้รถแรงขึ้นตามที่เข้าใจกันไปเองนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ ผู้ใช้รถต้องตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม มีจิตสำนึกต่อประเทศชาติและอนาคตของลูกหลานตนเองด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าจิตสำนึกของผู้ใช้รถบางส่วนหย่อนยาน มาตรการทางกฎหมายควรเข้ามาบังคับใช้จริงจัง ผ่านกระบวนการตรวจสภาพรถยนต์ ทั้งการตรวจสภาพรถยนต์รายปี และการสุ่มตรวจรถควบคู่กับมาตรฐานของสถานรับตรวจรถยนต์เอกชน หรือ ตรอ.

อุด EGR ตัด DPF ตัวอันตราย

ระบบ EGR และ DPF ในรถบางคันมีตัวใดตัวหนึ่ง หรือในอนาคตรถยูโร 6 อาจจะใช้ควบคู่กันทั้งสองตัว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการจราจรทางบกและมลพิษ อาจจะบังคับใช้กฎหมายมลพิษแก่ผู้ที่จงใจปิดระบบ เพราะถือเป็นตัวการสำคัญ ยิ่งกับรถที่ตัดระบบ Catalytic Converter ออก จะพ่นสารพิษทั้งควันและเขม่าที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ออกมาเต็ม ๆ ล้วนแต่เป็นสารพิษและสารก่อมะเร็ง อาทิ คาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO) และไนโตรเจนไดอ๊อกไซด์ (N2O) ไฮโดรคาร์บอน (Hydrocar) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfurdioxide) อัลดิไฮด์ (Aldehyde) โปลี่ซายคลิก อโรเมติก ไฮโดรคาร์บอน (polycyclic aromatic hydrocarbons)

แนวทางสำหรับการดูแลและบำรุงรักษรถยนต์ดีเซล โดยไม่ต้องเปิดระบบ EGR หรือ DPF คือ เลือกใช้น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ สังเคราะห์แท้ 100% เกรดสูง ที่ออกแบบมาเพื่อเครื่องยนต์ดีเซลที่ติดตั้งอุปกรณ์กรองเขม่า (DPF) ตามมาตราฐานไอเสียยูโร4 และ 5 โดยเฉพาะ เพราะจะมีสารกระจายเขม่าไม่ให้จับตัวกันเป็นก้อน สามารถเผาไหม้ได้ง่ายกว่า ลดการอุดตันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในส่วนรถยนต์เครื่องยนต์เบนซินก็ต้องให้ความสำคัญกับน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์เช่นกัน เพราะช่วยยืดอายุการทำงานของเครื่องยนต์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์รุ่นใหม่ที่มีระบบ EGR และในเมืองไทยก็เริ่มทำตลาดรถยนต์เครื่องเบนซิน เทอร์โบกันมากขึ้นด้วย

สิงห์รถกระบะ รักรถ รักลูกต้องไม่อุด EGR

ถ้าไม่มีระบบ EGR ในรถกระบะเครื่องยนต์ดีเซล ก็คงไม่สามารถจำหน่ายในประเทศไทยได้บนมาตรฐานไอเสียยูโร4 และการอุดระบบ EGR เริ่มเป็นกระแสมาสักระยะหนึ่ง แนวทางที่ควรปฏิบัติคือ เมื่อใช้งานครบ 40,000 – 50,000 กิโลเมตร ให้ทำการ ถอดล้างคราบเขม่าในลิ้นปีกผีเสื้อและท่อไอดี ศูนย์บริการหลายแห่งเริ่มมีบบริการในค่าใช้จ่ายหลักร้อย หรือสามารถทำได้ด้วยตัวเองโดยใช้สเปรย์ล้างทำความสะอาดลิ้นปีกผีเสื้อโดยเฉพาะ

อยากให้คลับผู้ใช้รถกระบะ มีการรณรงค์เลิกอุด EGR เพื่อเมื่อจอดติดเครื่องยนต์รอลูกและภรรยาหน้าบ้าน ไอเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการเผาไหม้ซ้ำและกรองเม่า จะสะสมในร่างกายของผู้ที่สูดดมเป็นประจำ ผ่านไปสักระยะอาการป่วยอาจถามหา ถ้าในเด็กเล็กเซลส์สมองจะถูกทำลายและมีผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและสมอง

ยูโร 5 กู้วิกฤตฝุ่นในระยะยาว

ปัจจุบัน ประเทศไทยใช้มาตรฐานไอเสียรถยนต์ระดับยูโร 4 (Euro 4) แต่เฉพาะรถยนต์ขนาดเล็ก ในขณะที่ รถเมล์ รถบัสนำเที่ยว และรถบรรทุก ยังเป็นยูโร 2 และ 3 ในขณะที่ประเทศในอาเซียนอื่น ๆ เริ่มใช้มาตรฐานไอเสียที่สูงขึ้นแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และยุโรป ใช้มาตรฐานไอเสียยูโร 6 (EURO VI)  หรือในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ ก็ใช้ยูโร 6 และมาเลเซียจำหน่ายน้ำมันดีเซลยูโร 5 (EURO V) ในหลายพื้นที่ และเวียดนาม จะเริ่มใช้ยูโร5 ในปี 2565

ในส่วนประเทศไทย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำมาตรฐานการระบายสารมลพิษจากเครื่องยนต์เทียบเท่า EURO 5 (มอก. EURO 5) ให้มีผลบังคับใช้ในปี 2564 ที่จะกำหนดค่ากำมะถันไม่เกิน 10 ppm รวมถึงกำหนดค่าการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ที่ต่ำลง โดยมีค่ายรถยนต์ 12 แบรนด์ ได้แก่ Audi, BMW, Isuzu, Mazda, Mercedes-Benz, Mitsubishi, Mini, MG, Nissan, Suzuki, Toyota และ Volvo พร้อมที่จะปรับมาตรฐานเครื่องยนต์และผลิตรถยนต์ทุกรุ่นเพื่อขายในประเทศให้เป็นไปตาม มอก. EURO 5 ในปี 2564 และจากนั้นมาตรฐาน EURO 6 จะออกมาบังคับในปี 2565 ต่อไป ซึ่งเป้าหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมคือ รถที่จะจำหน่ายบนมาตรฐานยูโร5 จะช่วยลดฝุ่นพิษลงไป 80%

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนมาตรการที่รัฐบาลสนับสนุนจะยังไม่เพียงพอ แต่เมื่อกรอบเวลามาถึงก็ต้องบังคับใช้ ผลที่จะเกิดขึ้นคือ ราคารถยนต์ที่จะปรับสูงขึ้น แม้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติ ออกมาตรการภาษีสรรพสามิตลดลง 1-2% สำหรับรถกระบะยูโร5 ช่วยให้ต้นทุนลดลงได้ประมาณ 10,000 บาท/คัน ในขณะที่ต้นทุนที่แท้จริงเพิ่มขึ้น 30,000 – 40,000 บาท/คัน ปลายทางภาระก็คงมาตกอยู่ที่ผู้บริโภค และในฝั่งโรงกลั่นน้ำมันก็ยังไม่มั่นใจว่าจะปรับปรุงโรงกลั่นและผลิตน้ำมัน ยูโร5 ให้ผลิตน้ำมันยูโร 5 แบบ 100% ได้ทันกำหนดหรือไม่ แต่ทุกวันนี้เริ่มจำหน่ายแล้ว แต่สัดส่วนยังน้อยมากอยู่

ดีเซล B10 และ B20 เกาถูกที่คัน

การจะแก้ปัญหามลพิษและฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน ต้องทำทั้งระบบ น้ำมันดีเซลพื้นฐานใหม่ได้รับการพัฒนาออกมา ด้วยสัดส่วนไบโอดีเซล 10% หรือน้ำมันดีเซล B10 ซึ่งรถยนต์ที่รอบรับน้ำมันดีเซลพื้นฐาน B7 เดิมอยู่แล้วสามารถเติมได้เลย ให้มลพิษต่ำ ลดฝุ่น PM2.5 และยังเป็นการใช้วัตถุดิบการเกษตรในกลุ่มพืชพลังงานมาแปรรูปเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงส่วนหนึ่งด้วย ในส่วนรถยนต์กระบะดีเซลโมเดลปี 2015 ขึ้นมาก็สามารถเติมดีเซล B20 ได้อีกด้วย เพียงแต่ต้องเข้ารับการเช็คสภาพกับศูนย์บริการกรณีรถเก่า แต่ถ้าซื้อรถใหม่วันนี้ก็เติมได้เลย

รถยนต์ไฟฟ้าถึงเวลาต้องจริงจัง

รถยนต์ไฟฟ้า เป็นอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ประเทศไทยในฐานะฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญ รัฐบาลต้องจริงจังในการผลักดันให้เกิดการลงทุนผลิตและจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นการสร้าง Product Champion ตัวใหม่ให้กับประเทศ ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนและเกิดการจ้างงานในประเทศ และลดปัญหาฝุ่นและมลพิษได้โดยตรง

การลงทุนจากค่ายรถนั้นพร้อมแล้ว ดูจากการขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบอร์ด BOI ที่ล้วนแต่เป็นค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกทั้งสิ้น อาทิ Toyota Nissan หรือ Honda แต่จะเกิดการลงทุนหรือไม่ รัฐบาลต้องมีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้ดี โดยเฉพาะความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า และมาตรการทางภาษีหรือการแลกซื้อรถยนต์ใหม่ที่จูงใจ โดยดูตัวอย่างได้จากประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น จีน ซึ่งแต่ละมณฑลจะให้เงินสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าไม่เท่ากันตามแต่ความเหมาะสมของมณฑลนั้น ๆ มณฑลใดต้องการให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้ามาก เช่น มณฑลกว่างสี ช่วยจ่ายเงินซื้อรถใหม่ให้มากถึง 60% ต่อคันเลยทีเดียว แต่เซี่ยงไฮ้จะสนับสนุนน้อยกว่าอยู่ที่ราว ๆ 30% ต่อคัน

อย่างไรก็ตาม ระยะทางในการวิ่งของรถยนต์ไฟฟ้าในสถานการณ์จริงต่ำ และจุดชาร์จไฟฟ้ายังไม่เป็นที่แพร่หลาย โดยเฉพาะการชาร์จแบบกระแสตรง หรือ DC Charging ที่สามารถอัดประจุไฟฟ้าให้เต็มได้ในระยะเวลาเพียง 30 นาทียังไม่มีให้บริการแบบสาธารณะ รัฐบาลก็สามารถส่งเสริมรถยนต์ไฮบริด หรือ PHEV เพื่อให้ผู้บริโภคได้เรียนรู้และมีจิตสำนึกในการใช้รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษต่ำ แม้ว่าราคาจำหน่ายจะปรับเพิ่มขึ้นมาจากรถยนต์เครื่องสันดาบภายใน

“เซี่ยงไฮ้” กรณีศึกษาเรื่องจัดการรถยนต์เพื่อลดฝุ่น PM2.5

มหานครเซี่ยงไฮ้ เคยเจอ PM2.5 ปกคลุมในอดีต จากการโหมก่อสร้างและปริมาณรถยนต์ ระหว่างนั้นก็ได้ทำทุกวิถีทางที่ไทยทำอยู่ อาทิ พ่นไอหมอก ล้างถนนทุกวัน และเมื่อก่อสร้างหยุดเพราะทุกอย่างที่ทำครบแล้ว เริ่มปลูกต้นไม้อย่างบ้าคลั่ง ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วยการให้เงินสนับสนุนค่ายรถโดยตรงเพื่อลดราคา สถานการณ์ฝุ่นก็คลี่คลาย ตอนนี้ใครจะซื้อรถยนต์คันใหม่ ถ้าซื้อรถยนต์ไฟฟ้าป้ายทะเบียนสีเขียวจะทำได้ง่าย แต่ถ้าจะใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน ทั้งน้ำมันเบนซินและดีเซลจะต้องรอคิว เพราะจำกัดโควตารถยนต์เชื้อเพลิงน้ำมัน และค่าธรรมเนียมใช้รถยนต์น้ำมันรายปีก็สูงมากด้วย หากใครไปเยือนเซี่ยงไฮ้ในปี 2020 นี้จะพบว่าท้องฟ้าสดใสและอากาศดีมาก

ใส่ความเห็น