วันเสาร์, เมษายน 20, 2024
Opinionข่าว

วิกฤต “มิตซูบิชิ” มายาแห่งทุนนิยมยานยนต์…กุญแจสำคัญดัน “นิสสัน-เรโนลด์” ขึ้นบิ๊กทรี

เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า? เหตุใดผู้บริหาร “มิตซูบิชิ” จึงลุกขึ้นมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว ยอมรับผิดว่ามีพนักงานกลุ่มหนึ่งโกงตัวเลขอัตราการบริโภคเชื้อเพลิง หรือตัวเลขความประหยัด ในรถยนต์มิตซูบิชิและรถนิสสัน ที่จ้างโรงงานมิตซูบิชิประกอบให้

บ้างก็ชื่นชมในสปิริต บ้างก็ตราหน้าว่าขี้โกง ลูกค้ามิตซูบิชิก็เย้ากันเองเป็นเรื่องสนุกว่า รถที่ตนเองซื้อมานั้นจะโดนด้วยหรือไม่? หรืออาจจะทำแต่ยังไม่มีหลักฐานเลยไม่ยอมรับ ว่ากันไปต่างๆ นาๆ

เนื้อข่าวจาก BBC

จะถามถึงหลักฐานก็ไม่ชัด ไม่ได้มีใครหรือหน่วยงานใดออกมาจับโกง แบบคราวที่ “โฟล์คสวาเก้น” โดนในการโกงค่าไอเสียด้วยซอฟต์แวร์ในสหรัฐอเมริกา ครั้งนั้นหน่วยงานรัฐบาลจับได้ สร้างความเสียหายต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์เยอรมันอย่างมาก แต่ในโลกออนไลน์ ส่วนของนักทฤษฎีด้านมืด ต่างเชื่อกันว่าเป็นเกมการเมือง เช่นเดียวกับกรณีธนาคารบีเอ็นพี ของฝรั่งเศสโดนเรื่องปล่อยกู้รัสเซียละเมิดกฎคว่ำบาตร แต่เมื่อผิดจริงก็ต้องก้มหน้า ไม่มีเคลียร์ ต้องเสียค่าปรับ

กลับมาที่มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชัน ซึ่งเป็นทางผู้บริหารมิตซูบิชิเอง อยู่ดีๆ ก็ออกมาบอกว่าตนเองโกง พวกเราสงสัยกันหรือไม่? เพราะถ้าอยู่เฉยๆ ก็ไม่มีใครรู้ ลูกค้ามิตซูบิชิและนิสสันเองก็ไม่ต้องนอยด์ว่าโดนหักหลังจากค่ายรถที่เค้าไว้ใจทุ่มเงินแสนซื้อรถมาใช้งาน

แต่เมื่อให้หลังได้ 3 สัปดาห์ ข่าวการเข้าซื้อหุ้น 34% ของนิสสัน มอเตอร์ ถูกจุดพลุ พร้อมทั้งรวบหุ้นจบได้ในวันนั้น ช่างง่ายดาย

Screen Shot 2559-05-14 at 22.15.55

จากหุ้นจำนวนมหาศาลของบริษัททั้งหมด 983,661,919 หุ้น คิดเป็นมูลค่าตลาด 555,768,984,235 เยน หรือกว่า 5.55 แสนล้านเยน นี่ผู้ถือหุ้นใหม่กวาดไปถึง 34% เชื่อว่าผู้ที่พอจะมีความรู้เรื่องตลาดทุนคงพอจะปะติดปะต่อเรื่องราวได้ในทันที หุ้นจำนวนขนาดนี้ไม่ได้ซื้อกันง่ายๆ แล้วก็คงไม่มีใครมาตั้งขายหุ้นบนกระดานมากมายขนาดนี้เว้นแต่จะเลิกกิจการ

nissan mitsubishiข้อครหาเรื่อง “มิตซูบิชิ” ทุบหุ้นตัวเอง เพื่อให้ “นิสสัน” เข้ามาซื้อในราคาที่เจรจากันไว้นอกกระดานคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะจริงเท็จอย่างไร ผู้ถือหุ้นรายย่อยเท่านั้นต้องเดินหน้าฟ้องร้องให้มีการตรวจสอบ

ถามว่า 34% มีความหมายอย่างไร? มีความหมายมากครับ เพราะว่ากฎระเบียบตลาดหุ้นญี่ปุ่น หรือ Japan Exchange Group ระบุไว้ว่า หากนักลงทุนรายใหม่ เข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เกินกว่า 1 ใน 3 ของหุ้นที่มีอยู่ จะต้องทำการตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นคืน หรือ Tender Offer จากผู้ถือหุ้นอื่นแบบสมัครใจ ภายใน 60 วัน

ความคึกคักของหุ้นมิตซูบิชิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน หรือ MMC ในวันศุกร์ 13 พฤษภาคม ที่มีความชัดเจนเรื่องการเข้าถือห้นของนิสสัน มอเตอร์
ความคึกคักของหุ้นมิตซูบิชิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน หรือ MMC ในวันศุกร์ 13 พฤษภาคม ที่มีความชัดเจนเรื่องการเข้าถือห้นของนิสสัน มอเตอร์

 

เชื่อว่าหลายคนเก็ตแล้วใช่ไม๊ครับ “นิสสัน” เองรู้ว่า ความลับไม่มีในโลก เพราะดีลยักษ์ขนาดนี้ แค่นัดหมายเจรจาหรือให้ที่ปรึกษาทางการเงินตรวจสถานะมิตซูบิชิ ยังไม่ทันตัดสินใจใดๆ มีคนมาเกี่ยวข้องมากมาย ข่าวก็ต้องรั่ว หุ้นมิตซูบิชิที่หมายตาไว้ต้องโดนปั่นแน่นอนจากคนวงในนั้นเอง

อีกทั้ง กฎหมายญี่ปุ่นไม่ให้เจรจาต่อรองกันนอกกระดาน จะซื้อราคาในกระดาน ก็ต้องเตรียมงานกันหน่อย ทั้งยังจะต้อง ต้องโดนบังคับให้ตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นของผู้ถือหุ้นอื่น ที่แม้นิสสันจะประกาศราคารับซื้ออีกที แต่ไม่ใช่ว่าจะตั้งราคากดเท่าไหร่ก็ได้ หน่วยงานกลางจะตรวจสอบด้วย ซึ่งที่ผ่านมาดีลยักษ์ก็มักจะแพงเกินปัจจัยพื้นฐานที่ “ที่ปรึกษาทางการเงิน” ได้คำนวณไว้ และผู้ถือหุ้นรายย่อยเดิมก็มักขาย เพื่อถือเงินสด และรอให้นโยบายบริษัทนิ่งเสียก่อน ค่อยกลับมาลงทุนยังไม่สาย

ด้วยความเก๋าและความเขี้ยวของใครก็ไม่ทราบได้ จึงเกิดกรณีที่คล้ายกับทุบหุ้นตัวเอง ขังผู้ถือหุ้นเดิม เพราะราคาดิ่งอย่างรวดเร็วลงไปกว่า 30% จากข่าวลบที่บั่นทอนความเชื่อมั่นนี้ ทั้งที่ปัจจัยพื้นฐานธุรกิจมิตซูบิชินั้นยังคงดูดี ไม่ได้แย่ มีโรงงานที่ศักยภาพสูงมากมายในหลายประเทศ เครือข่ายการจำหน่ายรถยนต์ในตลาดโลกนับเป็นผู้นำแถวหน้าของวงการ มิตซูบิชิ ในเมื่อมูลค่าธุรกิจที่แท้จริงยังดีอยู่ ใครจะยอมขายหุ้นคืนให้ผู้ถือหุ้นใหม่อย่าง “นิสสัน” แบบ VTO หรือ Volunteer Tender Offer แบบขาดทุนเละเทะ สู้ถือหุ้นไว้ แล้วเซฟรูปภาพ “คาลอส กอห์น” ไว้ที่หน้าจอมือถือเพื่อเป็นกำลังใจยังดูเข่าท่ากว่า (ฮา)

นิสสัน ก็ได้ประโยชน์ที่สุด เพราะโดนบังคับให้ทำ Tender Offer แต่ราคาหุ้นตลาดให้ส่วนลดบนกระดานแบบงานเทกระจาดแบบนี้ ใครมาขายคืนก็ยินดีรับหมดแน่นอน

บางคนอาจบอกว่า เมื่อข่าว “ดีลยักษ์” ออกมา หุ้นมิตซูบิชิก็ต้องเด้งอยู่ดี ใช่ครับ ก็เด้งมา แต่แบบว่ายังห่างไกลจากที่ดิ่งไปไกลนัก…แล้วคิดให้ดีว่า ตอนราคาดิ่งนรกใครเก็บ? หุ้นเนี่ย คุณตั้งราคาขาย ถ้าไม่มีคนรับซื้อ ก็ต้องตั้งให้ต่ำลงไปอีกเรื่อยๆ แต่ที่สุดก็มีคนรับหุ้นไปดูแล…คิดแบบง่ายๆ ก็ต้องมโนว่ามีแค่ “นิสสัน” กับ “ผู้บริหารมิตซูบิชิ” เท่านั้นแหละที่อยากได้ ถ้าหากรู้ว่า “ดีล” เขย่าวงการนี้จะเกิดขึ้น จริงหรือไม่ครับ?

หุ้น 34% ยังไม่ถึงกับครอบงำกิจการ หรือแต่งตั้งผู้บริหารและผู้สอบบัญชีในมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชัน แต่ “นิสสัน” มีสิทธิออกเสียง “วีโต้” คัดค้านการลงทุนและนโยบายต่างๆ ได้ทันที เจ๋งใช่ไม๊หล่ะครับ?

คราวนี้ “นิสสัน” นอกจากใหญ่ในตลาดญี่ปุ่นแล้ว อนาคตอาจจะเบียด “โตโยต้า” และ “เจนเนอรัล มอเตอร์ส” ในตลาดโลกได้เลยทีเดียว

nissan dayz

ส่วนเรื่องรถโมเดลใหม่ๆ หลังจากดีลยักษ์นี้นั้น ด้าน “นิสสัน” ไม่ต้องห่วงเค้า เพราะดีอยู่แล้ว รถยนต์ดีไซน์สวย เทคโนโลยียานยนต์และการขับเคลื่อนตอบโจทย์ตลาด จากการรวบรวมสุดยอดเทคโนโลยียานยนต์ญี่ปุ่นและยุโรปคือฟาก “เรโนลด์” ไว้ด้วยกัน ภายใต้การนำของคาลอส กอห์น ซุปตาร์แห่วงวงการยานยนต์โลก

ทางด้าน “มิตซูบิชิ” จะดีวันดีคืน รถโมเดลใหม่ๆ น่าจะออกได้เร็วขึ้น จากเดิมที่มีแต่ข่าวการ “พับแผน” หรือหยุดสายการผลิตรถรุ่นดังๆ ที่สร้างชื่อให้กับมิตซูบิชิ จาก DNA มอเตอร์สปอร์ต เมื่อนิสสัน เข้ามามีสิทธิมีเสียงในการกำหนดทิศทางและออกเสียงวีโต้ เชื่อว่า รถหลายๆ โมเดล จะต้องใช้พื้นฐานร่วมกัน โดยเฉพาะรถกระบะและ SUV รวมถึงรถเก๋งบางโมเดล

ท้ายนี้ ผมอาจจะเห็นต่างจากพวกเรานะครับ ที่โทนส่วนใหญ่มองว่าไม่เวิร์ค แต่ไม่ได้ว่าท่านผิด เพราะชุดความคิดเราแตกต่างกัน ผมมองว่าดีลนี้ “โหด” แต่ “เจ๋ง” ที่ว่าโหด ก็กับผู้ถือหุ้นมิตซูบิชิที่เป็นรายย่อยและกลุ่มที่ไม่อยากให้นิสสันเข้ามา ซึ่งเป็นปกติต้องมี เป็นธรรมดาของโลกทุนนิยม ในส่วนที่เจ๋ง คือเราจะได้เห็นรถยนต์ใหม่ๆ ที่ล้ำทั้งดีไซน์และเทคโนโลยี จากการจับมือกันของ “นิสสัน-เรโนลด์ กับ “มิตซูบิชิ” ที่มีของดีมากมาย ที่อยู่ในเทรนด์ทั้งหมด อาทิ รถไฟฟ้า รถไฮบริด รถSUV รถกระบะ และ Eco Car หรือ City Car

Nissan NP300 NAVARA Mitsubishi L200 Triton driveautoblog

จะบอกว่า ผมชอบดีลประหลาดๆ แบบนี้นะครับ กลิ่นมันทะแม่งตั้งแต่วันมีข่าวลบของมิตซูบิชิออกมา ก็ลุ้นอยู่ว่าจะมีเซอร์ไพรส์อะไรออกมา ผลสุดท้ายก็ฮือฮาจริงๆ ดีลแบบนี้มันมีอะไรให้คิด ศึกษาและติดตาม และในอนาคตท่านรอดูเถอะ จะมีดีลพิศดารมากกว่านี้เรื่อยๆ จากค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ เมื่อเห็นความเจ๋งของ “นิสสัน-เรโรลด์” ที่กำลังจะขึ้นไปยืนอยู่บนโพเดียมบิ๊กทรี

สรุป ผมยังมองว่า “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชัน” ยังดูดี ส่วนวิกฤตนั้นคล้ายจงใจให้เกิด จากแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยมีเป้าหมายหลายอย่างที่เค้าบอกเราไม่หมด เพราะบอกเราเท่ากับบอกคู่แข่ง แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือการผลักดันธุรกิจยานยนต์ของทั้ง “มิตซูบิชิ” และ “นิสสัน” ให้เติบโตขึ้นมาอีกขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

[ad name=”HTML-3″]

minnie driveautoblog
Editor at driveautoblog | Youtuber | Vlogger | Blogger

ใส่ความเห็น