Headline News

CSR

มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศเกียรติคุณ ผลงานวิชาการดีเด่น รางวัล TTF Award

ตุลาคม 5, 2016
2,689 Views

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมมอบรางวัล TTF Award (Toyota Thailand Foundation Award ) เพื่อประกาศเกียรติคุณและสนับสนุนผลงานของนักวิชาการไทย วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559 ณ ห้องราชดำเนิน ชั้น ๑ โรงแรมรอยัล  ปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพมหานคร

การประกาศเกียรติคุณผลงานวิชาการดีเด่น รางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย (TTF Award) เริ่มดำเนินการครั้งแรกปี พ.ศ.2538 ภายใต้ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและสนับสนุนให้นักวิชาการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อยกระดับมาตรฐานงานวิชาการของไทย มุ่งหวังที่จะส่งเสริมสังคมไทยให้เป็น “สังคมแห่งความรู้” ด้วยการประกาศเกียรติคุณยกย่องผลงานวิชาการในสาขาต่างๆ โดยมีผลงานวิชาการอันทรงคุณค่าจนถึงปัจจุบันทั้งสิ้น 50 เล่ม

810

การพิจารณารางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย (TTF Award) ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 17 โดยคัดเลือกจากผลงานที่ส่งเข้ารับการพิจารณา ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทรางวัล ดังนี้

1. รางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ประเภท รางวัลเกียรติยศ (Honorary Award)

  เงินรางวัล 300,000 บาทพร้อมโล่เกียรติยศ (โดยในปีนี้ไม่มีผลงานผ่านเกณฑ์การพิจารณา)

2. รางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ประเภท รางวัลผลงานวิชาการดีเด่น   

      เงินรางวัลละ 200,000 บาทพร้อมโล่เกียรติยศ โดยแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่

  1. รางวัลด้านสังคมศาสตร์ (Social Science Award)

ผลงานเรื่อง “ยล เยี่ยม เยือน เหย้า แนวคิดและทฤษฎีว่าด้วยการท่องเที่ยว          เชิงวัฒนธรรม”

ผู้เขียน: ผศ.ดร.บุณยสฤษฎ์  อเนกสุข

คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

  1. รางวัลด้านมนุษยศาสตร์ (Humanities Award)

ผลงานเรื่อง “จิตกรรมพุทธศาสนาสมัยพุกาม”

ผู้เขียน:  ศาสตราจารย์ ดร. เสมอชัย พูลสุวรรณ

คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาธรรมศาสตร์

  1. รางวัลด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Science Award)

ผลงานเรื่อง “CLINICAL LIPIDOLOGY”

ผู้เขียน:  ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วีรพันธุ์ โขวิฑูรกิจ

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  1. รางวัลด้านสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี (Environment & Technological Science Award) 

ผลงานเรื่อง “ไม้ป่าภาคใต้ เล่มที่ 1 (พรรณไม้วงศ์ Acanthaceae ถึงวงศ์Escalloniaceae)”

ผู้เขียน: นายไซมอน การ์ดเนอร์ และคณะ

มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย  มุ่งส่งเสริมความก้าวหน้าด้านการศึกษาในทุกระดับ  อีกทั้งยังร่วมมือกับองค์กรสาธารณกุศลทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของโตโยต้าที่จะขับเคลื่อนความสุขและสร้างรอยยิ้มสู่สังคมไทยภายใต้สโลแกน

“โตโยต้า ขับเคลื่อนความสุข”

157

รางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย (Toyota Thailand Foundation Award: TTF Award )

ความเป็นมา  

  • รางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย เริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี พ.ศ.2538 โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมุ่งหวังที่จะส่งเสริมสังคมไทยให้เป็น “สังคมแห่งความรู้” ด้วยการประกาศเกียรติคุณยกย่องผลงานวิชาการในสาขาต่าง ๆ พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดพิมพ์ผลงาน เพื่อเผยแพร่งานเขียนออกสู่สาธารณชน อันจะเป็นประโยชน์แก่ นิสิต นักศึกษา อาจารย์นักวิชาการ ตลอดจนสาธารณชน เพื่อที่จะสามารถศึกษา ค้นคว้า หาความรู้ ในวิทยาการใหม่อย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง

วัตถุประสงค์

  • เพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับสูง สนับสนุนนักวิชาการ สร้างสรรค์ผลงานวิชาการใหม่ ๆ  รวมทั้งยกระดับมาตรฐานงานวิชาการไทย

เกณท์ในการคัดเลือกผลงาน

  • เป็นผลงานที่เขียนโดยนักวิชาการไทย จัดพิมพ์ในรูปของหนังสือ หรือต้นฉบับที่พร้อมจัดพิมพ์เป็นหนังสือ
  • เป็นผลงานที่เขียนขึ้นใหม่ หรือเคยตีพิมพ์แล้วไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่พิมพ์ครั้งแรกจนถึงวันที่เปิดรับผลงาน
  • มีเนื้อหาวิชาการที่เป็นการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ หรือแสดงถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลของผู้แต่งอย่างมีเหตุผลตามหลักวิชาการ
  • เป็นผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจากสำนักพิมพ์ทางวิชาการ สถาบันทางวิชาการ สถาบันทางการศึกษา สมาคมวิชาชีพ ว่าเป็นหนังสือที่มีคุณภาพในการเสนอเข้ารับการพิจารณาให้รับรางวัล
  • ไม่เป็นผลงานในรูปแบบบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่สิ่งพิมพ์ทางวิชาการ ไม่ใช่งานแปล หรืองานรวบรวมข้อมูล

img_1303

ประเภทรางวัล

  • รางวัลเกียรติยศ :  – สนับสนุนเงินรางวัล 300,000 บาท พร้อมโล่ห์เกียรติยศ
  • รางวัลผลงานวิชาการดีเด่น  :  – สนับสนุนเงินรางวัลๆละ 200,000 บาท พร้อมโล่ห์เกียรติยศ

โดยแบ่งรางวัลเป็น 4 ด้าน ได้แก่

  • ด้านสังคมศาสตร์
  • ด้านมนุษยศาสตร์ 
  • ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ
  • ด้านสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

ในปีนี้มีผลงานที่ส่งเข้ารับพิจารณาทั้งสิ้น 54 ผลงาน และได้รับรางวัลผลงานวิชาการดีเด่นทั้ง 4 ด้าน โดยมีคำประกาศเกียรติคุณดังต่อไปนี้

11

คำประกาศเกียรติคุณ รางวัลด้านสังคมศาสตร์ (Social Science Award)

ผลงานเรื่อง ยล เยี่ยม เยือน เหย้า : แนวคิดและทฤษฎีว่าด้วยการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ผู้เขียน ผศ.ดร.บุณยสฤษฎ์  อเนกสุข

คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 

แนะนำโดย ศาสตราจารย์ กิตติคุณ ดร.ปิยนาถ บุนนาค ราชบัณฑิต

หนังสือเรื่องนี้กระตุ้นความสนใจของผู้พบเห็นตั้งแต่ชื่อเรื่องซึ่งมีการใช้คำ ภาษา และความหมายที่สอดคล้องกับเรื่องที่นำเสนอ กับทั้งยังสามารถตอบโจทย์และวัตถุประสงค์ของผู้เขียน(ผศ.ดร.บุณยสฤษฎ์  อเนกสุข)ได้อย่างกระชับ และชัดเจน มีลีลาน่าติดตาม

เนื้อหาสาระของหนังสือเป็นการรวบรวมแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างเป็นวิชาการ มีความชัดเจนทั้งในด้านเนื้อหาสาระ ภาษาที่สละสลวย อ่านเข้าใจง่าย การลำดับเรื่องราวเป็นระบบ มีตัวอย่างประกอบที่เข้ากับกาลสมัย พร้อมมีตารางและแผนภูมิทั้งเชิงเปรียบเทียบและแสดงที่มาที่ไปอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้แสดงให้เห็นผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทั้งในระดับมหภาคและระดับจุลภาคต่อสังคมไทย พร้อมๆกับการนำเสนอแนวทางการป้องกันและการแก้ไขผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้น กับทั้งยังได้อภิปรายเกี่ยวกับทิศทางของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของประเทศไทยในอนาคตด้วย ยิ่งกว่านั้น ผู้เขียนได้สรุปในตอนท้ายบทของแต่ละบทพร้อมกับส่งเรื่องต่อยังบทถัดไปตามลำดับได้อย่างเหมาะสม ทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจและติดตามเรื่องราวได้อย่างเป็นระบบตามลำดับขั้นตอน เป็นเหตุเป็นผลสืบเนื่องกัน นอกจากนี้การนำเสนอแหล่งอ้างอิงทั้งในรูปเชิงอรรถและบรรณานุกรมที่กว้างขวาง รอบด้านและเป็นระบบถูกต้อง ก็ทำให้หนังสือนี้เป็นที่เชื่อถือและสามารถอ้างอิงได้ในทางวิชาการ

13

คำประกาศเกียรติคุณ รางวัลด้านมนุษยศาสตร์ (Humanities Award)

ผลงานเรื่อง “จิตกรรมพุทธศาสนาสมัยพุกาม”

ผู้เขียน  ศาสตราจารย์ ดร. เสมอชัย พูลสุวรรณ

คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาธรรมศาสตร์

แนะนำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์

ผลงานค้นคว้าจิตรกรรมพุทธศาสนาสมัยพุกามถือเป็นการเปิดศักราชงานวิจัยทางวิชาการของศิลปกรรมในประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม พุทธศาสนาและศิลปะกับไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยเหตุที่ก่อนหน้าข้อมูลด้านวิชาการของพม่ายังเข้าถึงได้ค่อนข้างจำกัด แต่เป็นแหล่งงานศิลปกรรมที่เหลือหลักฐานอยู่อย่างมากโดยเฉพาะหลักฐานของงานจิตรกรรมเนื่องในพุทธศาสนา

งานวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบ การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในแหล่งศิลปกรรมที่มีการตรวจสอบกับหลักฐานทางเอกสาร วิเคราะห์และการลงความเห็นอย่างเป็นระบบอันนำมาซึ่งข้อสันนิษฐานที่น่าเชื่อถือ

ข้อสันนิษฐานสำคัญของการค้นพบในครั้งนี้ประกอบด้วย แบบแผนของงานจิตรกรรมสมัยพุกาม การแปลความสัญลักษณ์อันนำมาซึ่งข้อสันนิษฐานถึงแนวคิดและคติการสร้าง ความสัมพันธ์ระหว่างงานจิตรกรรมกับคัมภีร์ทางศาสนา ข้อสันนิษฐานใหม่เรื่องนิกายสงฆ์ “อรัญ” หรือ “อรี” รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างจิตรกรรมพุกามกับจิตรกรรมไทย

ผลที่ได้จากการค้นคว้าในครั้งนี้จึงยังประโยชน์ต่อวงวิชาการเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่การรับรู้ข้อมูลทางวิชาการของประเทศเพื่อนบ้าน ในฐานะที่เป็นคลังข้อมูลของงานศิลปกรรมเนื่องในพุทธศาสนา ในความเป็นประชาคมอาเซียนที่ถือว่ามีความสัมพันธ์กับไทยมากที่สุดโดยเฉพาะด้านความศรัทธาในพุทธศาสนา ความเป็นแหล่งบันดาลใจในการสร้างงานศิลปกรรมในประเทศไทย รวมทั้งความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและประเพณีอันดีต่อกัน และจะนำมาซึ่งความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ต่อไป ที่ไม่ใช่เพียงภาพประวัติศาสตร์แห่งการสงครามที่เกิดขึ้นเพียงเสี้ยวเวลาหนึ่งเท่านั้น

12

คำประกาศเกียรติคุณ รางวัลด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Science Award)

ผลงานเรื่อง “CLINICAL LIPIDOLOGY”

ผู้เขียน ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วีรพันธุ์ โขวิฑูรกิจ

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แนะนำโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์พิภพ  จิรภิญโญ

หนังสือ “CLINICAL LIPIDOLOGY” เล่มนี้เป็นหนังสือต้นแบบที่ให้ความรู้หลายๆ ด้าน แก่ผู้อ่านหรือผู้ที่จะนำมาศึกษาความรู้ทางด้านไขมันในร่างกายมนุษย์ที่จะแสดงอาการออกมาทางคลินิก

เริ่มจากผู้ประพันธ์ นอกจากจะมีความรู้ทางด้านนี้ดี เนื่องจากมีการศึกษาและวิจัยทางด้านนี้มายาวนานแล้ว ผู้ประพันธ์ได้ให้ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ทางด้านชีวเคมีของไขมันในรูปแบบต่างๆ ทั้งด้านการสร้าง การสะสมในร่างกาย และการทำลายไขมันในภาวะที่ร่างกายมีภาวะเมตะบอลิซึมที่ปกติ และเมื่อร่างกายมีภาวะเมตะบอลิซึมที่ผิดปกติ ไขมันเหล่านี้จะก่อให้เกิดความผิดปกติต่างๆ ในร่างกาย ในขณะเดียวกันเมื่อแพทย์เข้าใจการเกิดความผิดปกติของเมตะบอลิซึมของไขมันของผู้ป่วย ก็จะเข้าใจอาการและอาการแสดงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น แพทย์ผู้รักษาจะสามารถวินิจฉัยความผิดปกติของไขมันในร่างกายได้ง่ายนั้น และสุดท้ายแพทย์ผู้นั้นจะสามารถให้การรักษาที่ถูกต้องได้

จากการที่ผู้ประพันธ์หนังสือเล่มนี้ได้ทำวิจัยทางด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเข้าใจทางด้านไขมันและเกิดอาการทางคลินิกเมื่อเกิดความผิดปกติของเมตะบอลิซึมของไขมัน ผู้อ่านจึงได้ประโยชน์อย่างมากจากงานวิจัย และประสบการณ์ของผู้ประพันธ์ทางด้านนี้ ซึ่งจะหาอ่านจากตำราต่างประเทศได้ยาก ตำราเล่มนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ไทยอย่างมาก

หนังสือเล่มนี้จึงสมควรได้รับรางวัลครั้งนี้ เพราะได้ก่อเกิดประโยชน์แก่วงการแพทย์ไทย และผลประโยชน์จากความรู้ในหนังสือเล่มนี้จะตกแก่ประชาชนไทย ซึ่งเป็นผู้ได้รับการรักษาโรคต่างๆ ที่เกิดจากความผิดปกติของ    เมตะบอลิซึมของไขมันในร่างกาย

3

คำประกาศเกียรติคุณ รางวัลด้านสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี 

   (Environment & Technological Science Award) 

ผลงานเรื่อง “ไม้ป่าภาคใต้ เล่มที่ 1 (พรรณไม้วงศ์ Acanthaceae ถึงวงศ์Escalloniaceae)”

ผู้เขียน: นายไซมอน  การ์ดเนอร์ และคณะ

แนะนำโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ดอกรัก มารอด

หนังสือ “ไม้ป่าภาคใต้ เล่มที่ 1 (พรรณไม้วงศ์ Acanthaceae ถึงวงศ์ Escalloniaceae)”      ของไซมอน  การ์ดเนอร์ และคณะ ซึ่งท่านถืออยู่ในมือนี้ นับเป็นหนังสือในระดับตำราทางพฤกษศาสตร์ที่เป็นภาษาไทยชั้นเยี่ยมอีกเล่มหนึ่ง โดยเป็นการนำเสนอรายละเอียดของพรรณไม้ในเขตภาคใต้ของไทยซึ่งเป็นป่าดิบชื้นที่สำคัญแหล่งใหญ่ของประเทศ เมื่อเปรียบเทียบความหลากชนิดของพรรณพืชกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วป่าดิบชื้นในภาคใต้ของไทยนับว่ามีความหลากหลายสูงเช่นกัน อย่างไรก็ตามมีรายงานความหลากชนิดของพรรณไม้ภาคใต้ไม่มากนัก การมีคู่มือไม้ป่าภาคใต้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ถึงพรรณไม้ป่าเพิ่มมากขึ้น

หนังสือเล่มนี้ครอบคลุมตั้งแต่การทำความรู้จักพรรณไม้จากส่วนประกอบที่สำคัญของพืช การติดดอกออกผล ไปจนถึงการกระจายและลักษณะสภาพทางนิเวศวิทยาที่สำคัญของพืช ตลอดจนการระบุชนิดพันธุ์ไม้ได้อย่างมีเนื้อหาสาระและสามารถเข้าใจง่าย ยังประโยชน์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงพฤกษศาสตร์ หน่วยงานหรือองค์กรทางด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจงานด้านอนุกรมวิธานพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดีและถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งล้วนมีส่วนสำคัญต่อการทำความเข้าใจ รู้จัก และอนุรักษ์ป่าไม้ในภาคใต้ของไทย อาทิ การประยุกต์ใช้ในการจัดการเมล็ดพืช ส่งเสริมการสืบต่อพันธุ์หรือช่วยในการคัดเลือกชนิดพืชเพื่อการฟื้นฟูป่า รวมถึงการใช้ประโยชน์จากพืชแต่ละชนิดในเชิงพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน

ดังนั้น การมีคู่มือไม้ป่าภาคใต้ดังเช่นหนังสือ “ไม้ป่าภาคใต้ เล่มที่ 1” นี้ จึงนับได้ว่าช่วยส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ทางพฤกษศาสตร์ไม้ป่าภาคใต้ของไทย อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดเล่มหนึ่ง อีกทั้งยังให้ประโยชน์ต่อสังคมและบุคคลทั่วไปที่สนใจได้รู้จักพันธุ์ไม้ภาคใต้ของไทยมากขึ้น และจะก่อให้เกิดการศึกษาวิจัยและใช้ประโยชน์ไม้ป่าภาคใต้ในเชิงลึกต่อไป

1114

Avatar

Producer รายการ DRIVE และผู้สื่อข่าวสายรถจักรยานยนต์ เว็บไซต์ driveautoblog.com